Construction Site without Supervisor Part 2

Blog ที่ผมเขียนเมื่ออาทิตย์ที่แล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับเสาเข็ม วันนี้ จะพูดถึงเรื่องการฐานราก (Footing) ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญมากส่วนหนึ่งของการรับน้ำหนักและความมั่นคงของอาคาร เป็นส่วนที่รับน้ำหนักของอาคารทั้งหมดลงสู่พื้นดินทั้งโดยตรง หรือส่งผ่านเสาเข็มสู่ดิน

ในการก่อสร้างฐานราก ไม่ว่าจะเป็นฐานรากที่วางบนชั้นดินแช็งไม่ต้องการเสาเข็ม (Footing on ground) เช่น ที่ระยอง เกือบทุกจังหวัดในภาคเหนือ และอิสาน หรือเป็นดินอ่อนอย่างในกรุงเทพ และปริมณฑล ที่ฐานรากจะต้องนั่งบนเสาเข็ม (Footing on Pile) งานก่อสร้างฐานรากที่ดี อย่างน้อยควรเททรายหยาบรองพื้น ( Sand bedding) ประมาณ 10 ซม และเทคอนกรีตหยาบ (Lean concrete) อีก 5 ซม บนทรายหยาบก่อนการตั้งแบบหล่อฐานราก ช่างหลายคนก็ไม่ทำ ด้วยเหตุผลส่วนตัว โดยเฉพาะไม่มีผู้ควบคุมงาน ช่างก็ถือโอกาศไม่ทำเอาซะเลย การรองพื้นฐานรากด้วยทรายหยาบ และคอนกรีตหยาบ มีประโยชน์หลายประการ ประการแรกทรายหยาบจะช่วยปรับระดับดินเดิมในอยู่ในระนาบ ทำหน้าที่คอยดูดซับแรงกระทำจากอาคารสู่พื้นดิน และเป็นตัวกลางกั้นระหว่างดินที่อาจจะมีสารบางอย่างที่เป็นภัยแก่คอนกรีตฐานราก นอกจากนั้นยังช่วยไม่ให้เลอะเทะมาก ส่วนคอนกรีตหยาบ จะทำหน้าที่เป็นฐานรองรับแก่ฐานรากให้ฐานรากมีความมั่นคงขึ้น และเป็นตัวกันไม่ไห้เนื้อซีเมนต์ที่อยู่ในส่วนผสมของคอนกรีตไหลหนีซึมหายไปในพื้นดิน อย่างไรก็ตามถ้าบริเวณที่ก่อสร้างเป็นที่ลาดเอียง และดินเดิมเป็นดินเหนียวปนทราย หรือ ดินเหนียวปนซิลด์ เมื่อมีน้ำใต้ดินสูง อาจทำให้ฐานรากที่นั่งบนดินประเภทดังกล่าว สไลด์หนีออกไปได้เป็นเหตุให้ อาคารทรุด หรือพังลงได้ โดยที่ชั้นทรายหยาบรองพื้นเมื่อโดนน้ำใต้ดินก็จะทำหน้าที่เหมือนสารหล่อลื่น ดีๆนี่เอง แต่ก็มีวิธีป้องกันในทางเทคนิด ในระหว่างการออกแบบ และก่อสร้าง

เหล็กเสริมสำหรับฐานราก นั้นโดยทั่วไป จะวางให้ขอบของเหล็กเสริมอยู่ห่างจากผิวไม้แบบ ซึ่งก็คือผิวคอนกรีตฐานราก อย่างน้อย 7 ซม เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นและอากาศเข้าไปถึงเหล็กเสริมได้ ถ้าไม่มีการควบคุมดูแล บางที่ช่างก็ทำเกิน ทำให้เหล็กอยู่ใกล้ไม้แบบหรือชิดแบบ ด้วยความไม่เข้าใจคอนกรีต ซึ่งมีรูพรุน (Porous) ตามธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อน้ำใต้ดินสามารถผ่านรูพรุนเหล่านี้เข้าในบริเวณใกลัๆผิวฐานราก เมื่อไปเจอเนื้อเหล็กแล้ว ก็ทำให้เหล็กกลายเป็นสนิมและค่อยๆลามไปทั่วฐานรากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานฐานราก ดังนั้นในเมื่อ ฐานราก คือส่วนของโครงสร้างที่สำคัญดังนั้น หากท่านไม่สามารถควบคุมการทำงานของผู้รับเหมาได้ ควรจะให้ผู้มีความรู้ในเรื่องนี้ ทำการตรวจสอบ และควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งผู้ที่รู้ดีที่สุดสำหรับงานนี้คือ วิศวกรปฐพีกลศาสตร์ (Geotechnical Engineer) หรือ วิศวกรโครงสร้างที่ทำงานเกี่ยงข้องกับงานฐานราก