ปูหินอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา
- Tarkoon Suwansukhum
- November 16, 2012
- Ponder
- epoxy, FENN DESIGNERS, floor, installation, specifics, stone, Tarkoon Suwansukhum
- 0 Comments
พื้นหินธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในพื้นที่อาคารส่วนกลาง หรือส่วนที่สำคัญของบ้านพักอาศัย ที่ต้องมีการใช้งานมาก หินอ่อนเป็นหินที่มักจะถูกเลือกนำมาใช้สำหรับงานบ้านพักอาศัย แต่เนื่องจากคุณสมบัติความแข็งแรงของผิวที่จำกัด จึงมักเป็นอุปสรรคในการใช้งานในอาคารสาธารณะที่มีการใช้งานสูงและมีการขนของที่มีน้ำหนักมากผ่านไปมาและมีการนำหินแกรนิตมาใช้งานในบริเวณนี้แทน
เนื่องจากหินธรรมชาติมีรูพรุ่นในเนื้อหิน มากน้อยตามชนิดของหินนั้น ๆ ก่อนที่จะทำการปูพื้นหิน สิ่งหนึ่งที่สำคัญและควรได้รับการพิจารณา คือการทำระบบกันซึมน้ำของแผ่นหินเสียก่อน ระบบกันซึมแผ่นหินที่ดี ควรจะใช้วิธีจุ่มแผ่นหินลงในน้ำยาให้ทั่วแผ่น แล้วนำขึ้นมาตากไว้จนแห้งตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์น้ำยากันซึมนั้นๆ บางระบบอาจเป็นแบบทาน้ำยากันซึมด้านบนและด้านข้างของแผ่นหินทั้งสี่ด้าน และด้านล่างทาน้ำยากันซึมแบบที่เป็น epoxy
การติดตั้งหินพอจะแบ่งออกได้ 3 วิธีดังนี้
1. การติดตั้งโดยใช้ปูนทราย เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับพื้นที่ยังไม่ได้ทำการปรับระดับ หรือ พื้นเดิมที่ทำการรื้อปูนทราบเดิมออกก่อนทำการติดตั้ง ขั้นตอนในการปูพื้นมีรายละเอียดดังนี้
1.1 ตรวจสอบระดับพื้นที่จะทำการปูหินให้มีระดับสำหรับเทส่วนผสมของปูนทราย เพื่อปูหินอยู่ระหว่าง 30-50มม ถ้ามากหรือน้อยเกินไปควรทำการแก้ไข
1.2 ผสมปูนทรายปรับระดับ และเทลงบนพื้นที่จะติดตั้งหิน และทำการปรับให้ได้ระดับก่อนที่จะติดตั้งหิน
1.3 ใช้กาวซีเมนต์ผสมน้ำทาบนหลังหินที่จะติดตั้ง แล้วยกวางลงบนตำแหน่งที่จะติดตั้ง ใช้ค้อนยางเคาะเบา ๆ เพื่อให้ได้ระดับ
1.4 ทำการจัดวางแผ่นหิน และแนวรอยต่อให้อยู่ในแนวเดียวกัน โดยเว้นแนวรอยต่อหินประมาณ 1-2 มม เมื่อวางเสร็จควรทิ้งระยะเวลาให้แห้งตัวประมาณ 72 ชั่วโมง
1.5 ยาแนวรอยต่อระหว่างหิน ไม่ให้มีโพรงอากาศ เศษของวัสดุยาแนวที่หลุดออกมาให้เช็ดทำความสะอาด ก่อนที่วัสดุยาแนวจะแข็งตัว
2. การติดตั้งโดยใช้กาวซีเมนต์ เป็นวิธีที่สะดวกและเหมาะกับพื้นที่ได้รับการปรับระดับแล้ว หรือสำหรับพื้นที่มีระยะการติดตั้งจำกัด ขั้นตอนในการปูพื้นมีรายละเอียดดังนี้
2.1 ตรวจสอบระดับพื้นที่จะทำการปูหินให้ได้ระดับตามที่ต้องการ ถ้ามากหรือน้อยไปควรทำการแก้ไข
2.2 ทำความสะอาดพื้นผิวให้แห้ง สะอาด ปราศจากฝุ่น สี เศษปูน และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ
2.3 ผสมกาวซีเมนต์ตามคำแนะนำของผู้ผลิต เทกาวซีเมนต์ลงบนพื้นที่จะติดตั้งหิน ใช้เกรียงหวีฟันปลาปาดให้เป็นร่องให้ทั่ว รวมถึงบริเวณหลังแผ่นหินที่จะติดตั้งด้วย จากนั้นนำหินปูลงบนพื้นที่เทกาวซีเมนต์ เคาะด้วยค้อนยางเบา ๆ เพื่อให้ได้ระดับ
2.4 ทำการจัดวางแผ่นหิน และแนวรอยต่อให้อยู่ในแนวเดียวกัน โดยเว้นแนวรอยต่อหินประมาณ 1-2 มม เมื่อวางเสร็จควรทิ้งระยะเวลาให้แห้งตัวตามระยะเวลาของกาวซีเมนต์ที่เลือกใช้ และในช่วงเวลานี้ควรทำความสะอาดหินให้สะอาดและปิดทับด้วยแผ่นพลาสติกเพื่อป้องกันผิวหน้าหินเสียหายจากการทำงานต่อ
2.5 ยาแนวรอยต่อระหว่างหิน ไม่ให้มีโพรงอากาศ เศษของวัสดุยาแนวที่หลุดออกมาให้เช็ดทำความสะอาด ก่อนที่วัสดุยาแนวจะแข็งตัว
3. การติดตั้งโดยใช้กาวสำหรับติดตั้งหิน โดยไม่ต้องรื้อวัสดุปูพื้นเดิมออก
3.1 ตรวจสอบพื้นผิวเดิมว่ามีการหลุดร่อนหรือแตกร้าวอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้แก้ไขก่อน
3.2 ล้างทำความสะอาดพื้นผิวเดิมให้ปราศจากฝุ่น, น้ำมัน และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ และทิ้งให้แห้งสนิท
3.3 ผสมกาวและติดตั้งตามคำแนะนำของผู้ผลิต
3.4 ทำการจัดวางแผ่นหิน และแนวรอยต่อให้อยู่ในแนวเดียวกัน โดยเว้นแนวรอยต่อหินประมาณ 1-2 มม เมื่อวางเสร็จควรทิ้งระยะเวลาให้แห้งตัวตามระยะเวลาของกาวที่เลือกใช้ และในช่วงเวลานี้ควรทำความสะอาดหินให้สะอาดและปิดทับด้วยแผ่นพลาสติกเพื่อป้องกันผิวหน้าหินเสียหายจากการทำงานต่อ
3.5 ยาแนวรอยต่อระหว่างหิน ไม่ให้มีโพรงอากาศ เศษของวัสดุยาแนวที่หลุดออกมาให้เช็ดทำความสะอาด ก่อนที่วัสดุยาแนวจะแข็งตัว
การติดตั้งหินวิธีนี้อาจจะประหยัดเวลาในการทำงานเนื่องจากไม่ต้องรื้อวัสดุปูพื้นเดิมออก แต่การปูทับจะทำให้ระดับพื้นผิวสูงขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาในการเดินตรงบริเวณที่เป็นรอยต่อของการปู ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยนการปูพื้นหินวิธีนี้
ปัญหาของพื้นหินที่มันจะพบเจอบ่อย ๆ
1. วิธีตรวจสอบการทำระบบกันซึมของแผ่นหิน โดยทั่วไปนิยมให้ผู้รับเหมาทำการชุบหรือทาน้ำยากันซึมหินที่โรงงานแล้วจึงนำมาติดตั้ง ก่อนที่จะนำมาจากโรงงาน ควรทำการตรวจสอบหินทุกแผ่นด้วยการฉีดน้ำ หินที่ทำระบบกันซึมจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสีหินเมื่อถูกน้ำ ตามรูปด้านล่าง หินด้านซ้ายจะมีสีเข้มขึ้นเนื่องจากการซึมน้ำอันเกิดจากการไม่ได้ทำระบบกันซึม ในขณะที่หินด้านขวามีสีเหมือนเดิมเมื่อถูกน้ำ
นอกจากนี้ยังคงต้องตรวจดูหินทางด้านข้างและด้านหลังด้วยเช่นกันเพื่อให้แน่ใจว่าหินทุกแผ่นได้รับการทำระบบกันซึมอย่างสม่ำเสมอ คัดหินที่ไม่ได้ทำออกทันทีเพราะการแก้ไขหินที่ปูลงบนพื้นแล้วทำได้ยากมากและอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นหินโดยรอบได้ รูปด้านบนขวาเป็นหินที่ไม่ได้ทำระบบกันซึมที่ขอบหินที่ตรวจพบหลังจากติดตั้งหินไปแล้ว
2. การปูหินที่ไม่ได้ระดับ เป็นปัญหาที่พบเจอได้ทั่วไปในผู้รับเหมาทุกระดับ จากการขาดความระมัดระวังในการปูหิน ทำให้มุมของหินสูงไม่เท่ากัน บางครั้งเกิดจากแผ่นหินที่ไม่เรียบ ผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะใช้เครื่องเจียร์ ขัดบริเวณขอบหินที่สูงขึ้นมาเพื่อแก้ไขงานก่อนขัดพื้นลงแวกซ์
สิ่งที่เกิดหลังจากการขัดบริเวณขอบหินคือ ระบบกันซึมที่ได้ทำไว้หลุดไปขณะขัดหินให้บางลง เมื่อผู้รับเหมาพยายามที่จะทาน้ำยากันซึมใหม่ในระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม และจากนั้นขัดด้วยแวกซ์ จึงทำให้สีของหินไม่เหมือนกันตรงบริเวณขอบหิน รูปด้านบนซ้ายผู้รับเหมาพยายามใช้สีผสมกับแวกซ์เพื่อแก้ไข ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน รูปด้านบนขวาแม้เป็นหินสีดำก็เกิดปัญหาเช่นเดียวกัน
3. การปูหินไม่ได้ระดับ จะแสดงผลตอนพื้นเปียกน้ำและเกิดน้ำขังเป็น จุด ๆ การแก้ไขคือการรื้อและปูใหม่
4. การปูหินโดยไม่ได้ตรวจสอบระยะรูระบายน้ำที่พื้น พบได้ทั่วไปบริเวณรางระบายน้ำที่ทำเป็นพื้นลดระดับ ผู้รับเหมาที่ขาดความระมัดระวัง อาจปูหินทับการเปิดของฝารูระบายน้ำที่พื้นตามภาพด้านล่าง
เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น ผู้ควบคุมการติดตั้งพื้นหินจะต้องเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด การตรวจสอบระยะต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและเป็นข้อด้อยสำหรับช่างมีประสบการณ์น้อย การติดตั้งเป็นการติดตามสภาพหน้างานจริง จะมีแผ่นหินจำนวนหนึ่งที่ต้องวัดระยะและตัดตามสภาพจริง จึงต้องดู เอาใจใส่ในเรื่องการทำระบบกันซึม รวมไปถึงการ
ตรวจสอบรูระบายน้ำที่พื้นให้สามารถเปิดซ่อมบำรุงได้จริง นอกจากนี้ยังต้องมีการทำระบบกันซึมเพิ่มตามคำแนะนำของผู้ผลิต การทำความสะอาดพื้นโดยการใช้เครื่องขัด อาจทำให้ระบบกันซึมบางลงหรือหมดไป จึงต้องทำระบบกันซึมเพิ่มเติมอยู่อย่างสม่ำเสมอ
Related Posts
- Lydia Tiasiri
- May 20, 2013
Nothing to waste!
Year after year, new building standards and adoption of eco-friendly materials have been at a r ..