Sick Building Syndrome/ S.B.S (Causes from construction)

เรื่องของอาคารป่วยยังขาดเนื้อหาบางประการ อาทิตย์นี้ ผมจึงขอขยายความต่อ ในส่วนของสาเหตุที่ทำให้อาคารป่วยอันเป็นผลเนื่องมาจาก ภายในอาคาร ซึ่งประกอบด้วย

1. เกิดจากความไม่พิถีพิถันในการก่อสร้าง

ผลพวงจากการก่อสร้าง ที่ทำแบบสุกเอาเผากิน  รีบๆทำให้เสร็จๆรับเงินแล้วก็ปัดฝุ่นจากไป ก่อสร้างอย่างไรก็ได้เพราะเจ้าของบ้านไม่รู้ ช่างหลายคนมักจะลักไก่ ขอยกตัวอย่างเช่น ส่วนที่ตาเรามองไม่เห็นช่างมักจะละเลยไม่ทำอะไรในส่วนนั้นเสมอ ถ้าท่านมีเวลาลองเอามือลูบที่ข้างใต้ประตู หรือ ข้างบนประตู เกือบจะร้อยทั้งร้อยที่ ช่างไม้ และช่างสีมักจะแกล้งลืมไม่ทำอะไรเลย  เช่นไม่ขัดไสไม้ให้เรียบ หรือไม่ทาสีเลย จากการกระทำของช่าง จึงเป็นสาเหตุทำให้ประตูไม้ พองตัวในช่วงฤดูฝน เปิด ปิดประตูยาก สาเหตุเกิดจาก ความชื้นในบรรยากาศช่วงฤดูฝนค่อยๆซึมผ่านประตู จากข้างใต้ และข้างบนประตูทำให้ประตูพองตัว ถ้าช่างมีสำนึกที่ดีทาสีในส่วนนี้เช่นเดียวกับส่วนอื่น นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดการพองต้วของประตูไม้แล้วยังจะทำให้ประตูนั้นได้รับการปกป้องอย่างดี และมีอายุยืนยาว หรือช่างบางคนไม่ทาสีรองพื้นกันสนิมเหล็ก ถ้าเป็นประตูเหล็กก็จะเกิดสนิมทำให้เหล็กค่อยๆผุกร่อนเสียหาย การก่อสร้างอย่างหละหลวมของช่าง เช่นนี้ จึงทำให้เราได้เห็นเหล็กเป็นสนิมตามที่ต่างๆ อยู่เสมอๆ ตามข้อกำหนดช่างสีจะต้องลงสีรองพื้น เวลาทาสีรองพื้นปูนช่างพยายามโน้มน้าวให้เจ้าของอาคารใช้ น้ำยารองพื้นเป็นชนิดสูตรน้ำ (Water base primer) ซึ่งไม่มีกลิ่น และสี เจ้าของบ้านก็ชอบที่ไม่มีกลิ่นรบกวน แต่ช่างกลับเอาน้ำเปล่าทารองพื้นปูนให้เจ้าของบ้านแทน ฯลฯ ทำให้สีที่ทาตามอาคารดูเก่าเร็ว หรือ หลุดร่อน หรือมีราขึ้นตามพื้นผิวคอนกรีตอย่างที่เห็นได้โดยทั่วไปในปัจจุบัน

บ่อยครั้งที่ช่างประปาต่อเชื่อมท่อพีวีซี ไม่มีการเตรียมผิวชิ้นงานให้สะอาดปราศจากสิ่งสกปรก หรือคราบน้ำมันแล้วก็ทากาวและติดชิ้นท่อพีวีซีเข้าด้วยกัน ทำให้ในเวลาไม่นานต่อมาท่อรั่ว บางทีโชคร้ายน้ำที่รั่วออกมาหยดไปถูกสิ่งของมีค่าก็จะเกิดความเสียหายตามมา

ช่างก่อสร้างบางครั้งไม่เข้าใจว่า ผลที่ตามมาจากการก่อสร้างที่หละหลวมนั้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียตามมามากน้อยเพียงใด ดังตัวอย่างที่กล่าวถึงข้างต้น นอกจากความรำคาญในความยากลำบากในการเปิด ปิดประตู หรือประตูผุกร่อนเสียหายแล้ว ยังอาจเกิดเชื้อราภายในประตู ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้แก่ผู้อาศัยในอาคาร บ้านเรือน ต้องเสียเงินทองในการรักษาพยาบาล

2. เกิดจากการใช้อาคารที่ผิดประเภทของเจ้าของอาคาร

หลายครั้งจะมีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ อาคารถล่ม  เพราะพื้นที่ส่วนนั้นดัดแปลงมาจากการใช้งานอย่างอื่น เช่นออกแบบเป็นห้างสรรพสินค้า ต่อมาเพิ่มสวนสนุก สวนน้ำบนดาดฟ้าของอาคาร หรือออกแบบเป็นที่จอดรถ ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดเลี้ยง หรือ อาคารออกแบบก่อสร้าง เพียง 4 ชั้น แล้วมาต่อเติมเพิ่มเป็น 6 ชั้น เป็นต้น ทำให้การรับน้ำหนักของอาคารมากเกินกว่าที่อาคารได้รับการออกแบบไว้ นอกจากนั้น ถึงแม้นว่าอาคารไม่ถล่ม แต่งานระบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ประปา หรือ ระบบปรับอากาศ ที่ไม่ได้จัดเตรียมไว้ในขั้นตอนออกแบบและก่อสร้าง ก็จะก่อให้เกิดปัญหาในการใช้อาคารอย่างต่อเนื่อง และลามไปถึงส่วนต่างๆ ของอาคารที่กลายเป็นส่วนอาคารที่มีองค์ประกอบที่ไม่สมบูรณ์

อาคารเกิดเพลิงไหม้ แล้วผู้อาศัยอยู่ภายในไม่สามารถออกมาจากอาคารได้เนื่องจาก ทางหนีไฟถูกล๊อก หรือทางหนีไฟถูกเปลี่ยนไปใช้งานอย่างอื่น เช่นเป็นที่เก็บของ หรือไม่ก่อสร้างทั้งที่มีในแบบก่อสร้างทำให้ไม่เพียงพอในการหนีไฟ

3. ขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง

ขาดการบำรุงรักษาอาคารอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เช่น การบำรุงรักษาประจำเดือน หรือประจำปี สำหรับงานระบบ ต่างๆ เป็นต้นว่า ระบบลิฟท์ ระบบระบายอากาศ ระบบปรับอากาศ ระบบน้ำประปา ระบบน้ำดับเพลิง ระบบทางหนีไฟ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การบำรุงรักษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ลิฟท์อาจขาดสารหล่อลื่น ชุดเคลื่อนที่ หรือสายสลิงชำรุด ชุดสมองกลทำงานผิดพลาด (Technical error)

ประสิทธิภาพของการระบายอากาศของอาคารลดลง ไม่สามารถส่งอากาศบริสุทธ์ (Fresh air) เข้าออกในอาคารได้พอเพียง

ระบบปรับอากาศส่วนกลาง ที่มีระบบหอน้ำหล่อเย็น (Cooling tower) ซึ่งถ้าไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ย่อมเกิดปัญหาที่รุนแรงได้ เนื่องจากภายในหอน้ำหล่อเย็น จะมีการเจริญเติบโตของบักเตรีชนิดหนึ่งที่มีชื่ออย่างไพเราะ ว่า Legionella ซึ่งถ้ามีจำนวน และอุณหภูมิที่เหมาะสมอาจทำให้ผู้อาศัยในอาคารเสียชีวิตได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารเป็นโรคหอบหืดโดยไม่ทราบสาเหตุได้เช่นกัน

ระบบประปาโดยเฉพาะถังพักน้ำ (Water reservoir or water tank) เมื่อใช้งานได้ระยะหนึ่งย่อมเกิดตะกอนใต้ถังน้ำ ตะกอนดังกล่าวอาจกลายเป็นที่อยู่อาศัยของเชื้อโรคได้

ระบบน้ำดับเพลิง ที่เคยมีบางครั้งพอเกิดเหตุ ไม่มีน้ำแม้นแต่ 1 หยดออกมาจากระบบสปริงเกิล (Sprinkler) เพราะลืมเปิดวาล์วน้ำ หรือ ประตูควบคุมน้ำเข้าระบบ แม้นกระทั้งหัวรับน้ำดับเพลิงนอกอาคาร ไม่สามารถเชื่อมต่อกับเกลียวท่อส่งน้ำของรถดับเพลิงได้

ระบบทางหนีไฟ ในอาคารสาธารณะต้องมีการดสอบการหนีไฟ ตรวจเช็คประตูหนีไฟเมื่อเกิดเหตุ ประตูหนีไฟต้องเปิดได้

ระบบระบายน้ำ ไม่ได้รับการดูแล เมื่อเกิดอุบัติเหตุมีน้ำฝนมากเกินไป หรือท่อประปาภายในอาคารแตกทำให้ไม่สามารถระบายทิ้งได้ทันเนื่องจากท่อระบายน้ำตัน เป็นเหตุให้น้ำท่วมในอาคาร

ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย ไม่ว่าจะเป็นระบบใช้บักเตรีที่ต้องการออกซิเจน (Aerobic Bacteria) หรือไม่ต้องการออกซิเจน (Anaerobic bacteria) ในการดำรงชีวิต บักเตรีนี้จะเป็นตัวกำจัดของเสีย ต้องหมั่นคอยตรวจสอบ ที่สำคัญต้องคอยดูแลอย่าให้บักเตรีในถังบำบัดตาย

4. การเลือกใช้วัสดุในขั้นตอนการออกแบบ และในการก่อสร้างที่ไม่เหมาะสม

เกิดจากการเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างที่ไม่เหมาะสมในขั้นตอนการออกแบบ และก่อสร้าง ทั้งส่วนที่เป็นคอนกรีต เหล็ก ไม้ วัสดุปูพื้นผิว การทาสี ตลอดจนการเลือกใช้อุปกรณ์ ของงานระบบต่างๆ เมื่อกาลเวลาผ่านไปส่วนของอาคารที่ถูกสร้างไว้ ก็จะค่อยๆฟ้องออกมา เช่นอาคารโดยภาพรวมเก่าเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ต้องใช้เวลา และค่าใช้จ่ายมากมายในการบำรุงรักษา เป็นต้น

การออกแบบที่ดี คือ ให้ผู้อยู่อาศัยภายในอาคารมีความสุข ปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี และมีความเข้าใจคุณสมบัติของวัสดุที่เลือกใช้เป็นอย่างดี  เฟ็น ดีซายเนอร์ส สตูดิโอตระหนักถึง การเลือกใช้ วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการออกแบบอาคารแต่ละประเภท เพื่อความเหมาะสมในการใช้งานนั้นๆ ให้มีความคงทนถาวร มีเสถียรภาพ ภายใต้งบประมาณที่อยู่ในความควบคุม และลดการซ่อมบำรุงรักษาอาคาร รวมทั้งคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุแบบยั่งยืน (Sustainable Materials) เพื่อให้โลกสีเขียวของเราคงอยู่ต่อไป